
ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง อุดมด้วยธาตุอาหารทั้งธาตุอาหารหลัก รอง และเสริม
ระยะเวลาหมัก
ปุ๋ยหมักที่ดีต้องผ่านการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์มาอย่างสบูรณ์ เพื่อที่พืชจะสามารถนำธาตุอาหารไปใช้ได้ในทันที โดยไม่เกิดผลเสีย โดยสามารถสังเกตเบื้องต้นได้จากลักษณะทางกายภาพของปุ๋ย เช่น กลิ่นหรือสีของปุ๋ย
ปุ๋ยอินทรีย์ของฟาร์มเราได้ผ่านการทดสอบมาแล้วว่าระยะเวลา 60 วันเป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยหรือมากเกินไปสำหรับการย่อยสลาย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นระยะเวลาการหมักจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้หมักด้วย ถ้าหากเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ง่ายก็อาจใช้เวลาน้อยกว่านี้
อุณหภูมิในกองปุ๋ยหมัก
กระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในกองปุ๋ย จะทำให้เกิดความร้อนเกิดขึ้น โดยในช่วงแรกๆของการหมัก ความร้อนภายในกองปุ๋ยสามารถสูงถึง 75 องศาเซลเซียส ก่อนจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆ จนใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอกกอง จึงสามารถนำไปใช้ได้
การเกิดความร้อนสูงขึ้นในกองปุ๋ยหมักนับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั่นหมายถึงจุลินทรีย์กำลังทำการย่อยสลายอยู่ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของจุลินทรีย์ เช่น ความชื้น อากาศ ปริมาณคาร์บอนต่อไนโตรเจน ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการตรวจสอบความร้อนภายในกองปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิภาพสูงสุดของจุลินทรีย์
ระยะเวลาตากปุ๋ยให้แห้ง
จุลินทรีย์ในกองปุ๋ยจะอาศัยความชื้นในการย่อยสลายกองปุ๋ย ดังนั้นก่อนที่จะนำปุยไปใช้ จึงควรทำให้จุลินทรีย์สงบเสียก่อนด้วยการตากปุ๋ยให้แห้ง เพื่อให้ไม่ส่งผลเสียต่อพืช เพราะถ้าหากจุลินทรีย์ในกองปุ๋ยยังย่อยสลายได้ไม่สมบูรณ์ จุลินทรีย์อาจดึงไนโตรเจนจากดินเพื่อใช้ในการย่อย ส่งผลให้พืชมีอาการขาดธาตุไนโตรเจน
ทั้งนี้ทั้งนั้น ระยะเวลาการตากปุ๋ยจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมเป็นหลัก ถ้าในช่วงที่ความชื้นในอากาศน้อย ระยะเวลาที่ใช้ก็จะน้อยลงตาม

โรงปุ๋ยอินทรีย์
ระบบปุ๋ยหมักเติมอากาศ
การถ่ายเทอากาศที่พอเหมาะ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำปุ๋ยหมัก การถ่ายเทอากาศเป็นการเติมออกซิเจนแก่จุลินทรีย์พวกที่ต้องใช้อากาศเพื่อที่จะย่อยสลายกองปุ๋ย และจากการวิจัยพบว่าถ้าหากมีการเติมอากาศทางกลเข้าไปร่วมกับการถ่ายเทอากาศที่สอดคล้องกันจะมีแนวโน้มทำให้กระบวนการย่อยสลายปุ๋ยหมักเกิดได้เร็วขึ้น
และจากงานวิจัยดังกล่าว ทางฟาร์มจึงได้นำเอาระบบปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศเข้ามาใช้ โดยการใช้พัดลมโบลเวอร์อัดอากาศเข้ามาในกองปุ๋ยเพื่อทดแทนการกลับกองปุ๋ย จึงเป็นการประหยัดทั้งเวลาและต้นทุนที่ใช้ในการกลับกอง อีกทั้งการหมักปุ๋ยในซองที่อยู่ในตัวอาคารจะสามารถควบคุมปัจจัยต่างๆได้สะดวกกว่าการหมักปุ๋ยกลางแจ้ง จึงทำให้คุณภาพของปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากฟาร์มมีความสม่ำเสมอ
แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ส่วนประกอบหลักของกองปุ๋ยหมักนั้นเป็นขี้เลื่อยจากการเพาะเห็ด ซึ่งโดยธรรมชาติของขี้เลื่อยนั้นมีขนาดเล็กและความหนาแน่นสูง ทำให้การไหลเวียนของอากาศจะไม่ดีเท่าเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นที่มีช่องว่างให้อากาศถ่ายเทได้มากกว่า เช่น ฟางข้าว ใบไม้ หญ้า เป็นต้น ทางฟาร์มของเราจึงใช้การกลับกองปุ๋ยหมักช่วยเพื่อให้การย่อยสลายทำได้เร็วขึ้น


วัสดุอินทรีย์ที่ใช้หมักปุ๋ย
ส่วนผสมของวัสดุอินทรีย์มีความสำคัญมากในการทำปุ๋ยหมักให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการทำระบบเกษตรอินทรีย์ ที่จะต้องไม่มีการเติมปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยยูเรียเข้าไปเป็นวัสดุผสม ดังนั้นการเลือกวัสดุอินทรีย์ที่มีธาตุอาหารสูงเข้ามาทดแทนจึงเป็นสิ่งจำเป็นของฟาร์มเรา เช่น หากวัสดุอินทรีย์มีไนโตรเจนหรือโปรตีนสูง จะได้ปุ๋ยหมักที่มีไนโตรเจนสูง และวัสดุอินทรีย์ที่มีฟอสฟอรัสสูงจะได้ปุ๋ยหมักที่มีฟอสฟอรัสสูงเช่นเดียวกัน โดยฟาร์มเราจะrพิจารณาใช้วัสดุอินทรีย์ที่สามารถผลิตขึ้นมาเองหรือมีในท้องถิ่นก่อนเป็นอันดับแรก